วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

                ในชั้นสอบสวน สิทธิของบุคคลที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองบัญญัติไว้ในมาตรา  ๒๓๔  แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยหลักกการคุ้มครองพยานบุคคลที่จะไม่ให้ถ้อยคำที่ทำให้ตนเองถูกฟ้องคดีอาญา อันเป็นหลักกฎหมายที่นำมาใช้ทั้งในการให้การของบุคคลในชั้นศาลและในกรณีบุคคลที่มาให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓  วรรคสองด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักที่ว่าบุคคลมีสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๐(๔๐)
                อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ควรแก่การพิจารณาว่า หลักที่ให้สิทธิบุคคลที่จะไม่ตอบคำถามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเขาเองนั้น เห็นกันว่าต้องแยกออกจากสิทธิที่จะนิ่งเฉย(Right to Remain Silent) ไม่ให้การใดๆที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหาในคดีนั้นเลย ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายให้ความคุ้มครองแก่เฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ไม่รวมถึงบุคคลอื่นๆที่จะใช้สิทธิในลักษณะเด็ดขาดดังกล่าว ดังนั้น บุคคลทั่วไปที่ยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับเอกสิทธิ์ที่จะไม่ตอบคำถามใดๆคงมีสิทธิเพียงไม่ต้องตอบคำถามที่อาจทำให้ตนถูกฟ้องเป็นคดีอาญาเท่านั้น จะถึงกับปฏิเสธที่จะตอบคำถามใดๆเลยไม่ได้
            ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งให้ความสำคัญกับหลักความยุติธรรมนี้เป็นอย่างมาก ถึงกับจัดว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่สำคัญประการหนึ่ง จึงมีการนำมาบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาในบทแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 (fifth Amendment) ซึ่งในระบบกฎหมายอเมริกันเรียกว่า เอกสิทธิ์ที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง (Privilege against self-incrimination ) โดยหลักการทั่วไปสิทธิประการนี้มุ่งที่จะไม่ให้มีการใช้อำนาจสอบสวนของเจ้าพนักงานไปในทางละเมิดสิทธิของของบุคคลที่จะไม่ต้องตอบคำถามหรือให้หลักฐานใดๆที่อาจทำให้เขาถูกฟ้องได้รับโทษหรือถูกยึดทรัพย์ และเพื่อคุ้มครองสิทธิดังกล่าวได้อย่างมั่นคงการที่บุคคลที่ถูกสอบปากคำจะต้องมีโอกาสปรึกษาทนายความหรือได้มีการแจ้งเตือนให้ทราบถึงผลร้ายที่จะมีต่อเขาในการดำเนินคดีอาญาและสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำใดๆอันเป็นหลักกฎหมายที่มาจากคำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐอเมริกาในคดีมิแรนดา (Miranda v. Arizona) และมีผลอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา
            อนึ่ง สิทธิที่จะไม่ตอบคำถามที่อาจทำให้พยานถูกฟ้องคดีอาญาย่อมคุ้มครองเฉพะตัวบุคคลที่เป็นผู้ให้ถ้อยคำเท่านั้นทำให้มีข้อพิจารณาต่อไปว่าหากบุคคลจะอ้างสิทธิไม่ตอบคำถามแก่เจ้าพนักงานในการสอบสวนคดีอาญา โดยอ้างผลกระทบอื่นนอกเหนือกรณีที่จะต้องถูกฟ้องคดีอาญาได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่จะเป็นผลร้ายแก่บุคคลในครอบครัว เช่น บุพการี คู่สมรส หรือลูกหลานผู้สืบสันดาน ในประเด็นนี้แม้ไม่มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความโดยเฉพาะแต่เนื่องจากบุคคลที่เจ้าพนักงานเรียกมาให้ถ้อยคำมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมซึ่งเป็นหลักการทั่วไปที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ บุคคลที่มาให้ถ้อยคำย่อมได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยได้ให้การรับรองไว้ในมาตรา ๔ มาตรา  ๒๖  และมาตรา ๒๘ ดังนั้น  นอกจากเจ้าพนักงานจะต้องไม่กระทำการในทางมิชอบต่อร่างการและจิตใจของบุคคลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ บังคับ หรือใช้วิธีการทรมาน เพื่อให้บุคคลนั้นให้ถ้อยคำแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงผลกระทบในทางมโนธรรมที่บุคคลในสภาวะเช่นนั้นพึงได้รับการคุ้มครองอยู่ด้วย ดังนั้น การที่บุคคลจะอ้างเหตุความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น พยานมีความสัมพันธ์เป็นบุตรหรือคู่สมรส หรือเป็นบิดามารดาของผู้ต้องหา บุคคลนั้นอาจอ้างเหตุที่จะไม่ตอบคำถามของเจ้าพนักงานซึ่งอาจเป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว  จึงสอดคล้องกับหลักการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในบริบทของสังคมไทย


                การรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
                                กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ขั้นตอนหรือกระบวนการต่างๆในการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในสังคม กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ดีมิใช่จะเพียงแต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมเท่านั้น แต่ยังต้องมีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเช่น ผู้ต้อง จำเลย ผู้เสียหาย พยานด้วย ความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลมีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่ว่าบุคคลเกิดมาพร้อมกับศักดิ์และสิทธิในความเป็นมนุษย์อันมิอาจถูกลิดรอนได้และย่อมมีความชอบธรรมในสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเสมอภาคและมีศักดิ์ศรี
            การให้ความเคารพและคุ้มครองสิทธิสรีภาพของบุคคลเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติธรรมซึ่งหมายถึงการปกครองที่มีกฎหมายเป็นใหญ่ หลักดังกล่าวนี้รัฐเองก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน ดังนั้นนอกเหนือจากรัฐจะมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมแล้ว รัฐยังมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายและภารกิจที่จะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกล่วงละเมิดโดยบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือโดยบุคคลหรือองค์กรของรัฐเอง รัฐมีกระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกหลักในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมขณะเดียวกันก็มีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย ในการดำเนินภารกิจดังกล่าวได้อย่างมีคุณภาพจึงต้องเริ่มจากการที่กระบวนการยุติธรรมต้องไม่เป็นกระบวนการที่ไปคุกคามหรือล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียเอง และด้วยเหตุที่รัฐมีหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่อาจกระต่อสิทธิของหลายฝ่ายทั้งผู้ต้องหา จำเลย พยาน และผู้เสียหาย
                ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมที่ดีจึงต้องสร้างหลักประกันที่เหมาะสมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมิให้ถูกล่วงละเมิดโดยคำนึงถึงความสมดุลของหลักการควบคุมอาชญากรรม( Crime Control) กับหลักนิติธรรม (Due Process) แนวคิดในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวข้างต้นมีที่มาจากหลักนิติรัฐถือว่าการกระทำใดๆของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ การกระทำใดๆของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายย่อมไม่อาจใช้ยันหรือกล่าวอ้างในกระบวนการยุติธรรมได้ แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะมีวัตถุประสงค์เพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอันเป็นระโยชน์ของรัฐก็ตามแต่ก็มิได้หมายความว่าในการดำเนินการเพื่อค้นหาความจริงดังกล่าวรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำได้ทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสังคม ในบางประเทศมีบทลงโทษรัฐในกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยพยานหลักฐานใดที่ได้มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันมิชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลจะไม่รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว ดังนั้นกระบวนการในการค้นหาความจริงในคดีอาญาจึงต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก็ได้มีการวางหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอันอาจถูกกระทบจากการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนี้
                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในชีวิต ร่างกายในมาตรา ๓๒ ที่บัญญัติว่า
                มาตรา ๓๒ บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
                การทรมาน ทารุณกรรม...ด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้... 
                การจับ และการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
            การค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ
            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในเคหสถานตามมาตรา ๓๓ ที่บัญญัติว่า
            มาตรา ๓๓ บุคคลย่อมมีสเรีภาพในเคหสถาน
                บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข
                การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการตรวจค้นเคหสถานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารไว้ดังนี้คือ
                มาตรา ๓๕ บัญญัติว่า สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง...
                บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๓๖ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย
                การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใด เพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อกันจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

            ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่สำคัญประการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้โดยผู้ใดจะมาล่วงละเมิดมิได้ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรรมนูญนี้ พยานหลักฐษนหรือสิ่งที่ได้มาจากการกระทำโดยมิชอบนั้นจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใด เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น